การดูแลผิวหนังด้วยตัวเอง อาจทำได้ดังนี้
-
ทาครีมกันแดดทุกวัน
การทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน อาจช่วยป้องกันชั้นผิวหนังไม่ให้ถูกรังสีอุลตร้าไวโอเล็ต หรือรังสียูวี (UV) ทำร้าย รังสียูวีประกอบไปด้วยรังสี UVA ที่มีส่วนสร้างความเสียหายให้กับผิว อาจทำให้เกิดริ้วรอย จุดด่างดำ และความหมองคล้ำให้แก่ผิวหนัง และรังสี UVB ที่ทำให้ผิวชั้นนอกไหม้แดด และทำลายดีเอ็นเอใต้ผิวหนัง เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งผิวหนังอีกด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านหรือออกไปข้างนอก ก็ควรปกป้องผิวหนังด้วยการทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากแสงแดดอาจสะท้อนกับกระจกหรือลอดหน้าต่างเข้ามาในบริเวณบ้าน รวมถึงแสงไฟในบ้านก็อาจส่งผลเสียต่อผิวได้เช่นกัน
ควรเลือกครีมกันแดดที่มีฉลากระบุว่าสามารถป้องกันคลื่นความถี่กว้างในรังสียูวีเอได้ หรือที่เรียกว่าครีมกันแดดสูตรบรอดสเปกตรัม (Broad Spectrum) ที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป และอาจมีค่า PA ด้วย โดยค่า SPF คือ ประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVB ส่วนค่า PA คือ ประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA ปริมาณครีมกันแดดที่แนะนำสำหรับทาผิวหน้าอยู่ที่ 1-2 กรัม/ครั้ง หรือประมาณ 2 ข้อนิ้ว สำหรับการทาทั้งตัวอยู่ที่ประมาณ 30 กรัม/ครั้ง เมื่อจะออกไปข้างนอก ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดอย่างน้อย 15-30 นาที และทาซ้ำทุก 3-4 ชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้นหากเหงื่อออกง่าย หรือทำกิจกรรมทางน้ำ เพราะอาจชะล้างครีมกันแดดออกจากผิวไวขึ้น -
ทำความสะอาดผิวอย่างถูกวิธี
โดยเฉพาะผิวหน้า เพื่อช่วยให้ผิวสะอาดอยู่เสมอ และดูสุขภาพดี ควรล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ ตอนเช้าหลังตื่นนอน และก่อนนอน เพื่อชำระล้างน้ำมันส่วนเกิน สิ่งสกปรก หรือเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ซึ่งอาจอุดตันรูขุมขน จนก่อให้เกิดสิว หรือโรคผิวหนังอื่น ๆ ได้
ก่อนล้างหน้า ควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสหน้า จากนั้นล้างหน้าด้วยน้ำเปล่าอุณหภูมิห้องและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่เหมาะสมกับสภาพผิวที่สุด โดยการบีบผลิตภัณฑ์ล้างหน้าปริมาณเล็กน้อยลงบนฝ่ามือ ผสมน้ำเล็กน้อยแล้วถูจนเกิดฟอง จากนั้นนำฟองที่ได้ไปทำความสะอาดผิวหน้าด้วยการนวดเบา ๆ ตามแนวรูขุมขน ซึ่งอาจช่วยให้ล้างหน้าได้สะอาดขึ้น และช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด -
งดสูบบุหรี่
การงดสูบบุหรี่ส่งผลดีต่อสุขภาพผิว เพราะการสูบบุหรี่อาจทำให้ผิวแก่ก่อนวัย เนื่องจากสารประกอบที่เป็นพิษในบุหรี่ เช่น นิโคติน ทาร์ สารอนุมูลอิสระ อาจเข้าไปทำลายเซลล์ในชั้นผิว ลดการสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน ที่ทำหน้าที่รักษาความชุ่มชื้นและสร้างความยืดหยุ่นให้แก่ผิว เมื่อเส้นใยผิวเหล่านี้ลดน้อยลง ก็จะทำให้ผิวหนังหย่อนคล้อย เหี่ยวย่น ขาดความยืดหยุ่น และเกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังมีส่วนทำให้หลอดเลือดตีบตัน ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงผิวได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จนผิวได้รับสารอาหารและออกซิเจนน้อยลง ทั้งยังเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง
-
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮออล์เป็นประจำอาจทำให้ผิวแห้งกร้าน แก่กว่าวัย ดูหมองคล้ำ และเกิดฝ้ากระได้ง่ายขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายขับน้ำออกมามากกว่าปกติ ทำให้ผิวสูญเสียน้ำที่หล่อเลี้ยงและขาดความชุ่มชื้น ทำให้เกิดปัญหาผิวหน้าแห้ง ปากลอกแตกตามมา นอกจากนี้ แอลกฮอล์ยังลดประสิทธิภาพการทำงานของตับ ทำให้สารพิษไม่สามารถขับออกจากร่างกายได้หมด ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสิวได้
-
ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม
การดื่มน้ำมีส่วนช่วยเสริมสร้างความชุ่มชื้นให้กับผิว ช่วยลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายรวมถึงเซลล์ผิวหนัง ช่วยอวัยวะในร่างกายทำงานเป็นปกติ และยังช่วยขับล้างสารพิษภายในร่างกาย ปริมาณน้ำที่เหมาะสมมีดังนี้
- ผู้ชายอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรดื่มน้ำหรือของเหลวอย่างน้อยวันละ 3.7 ลิตร หรือ 13 แก้ว/วัน
- ผู้หญิงอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรดื่มน้ำหรือของเหลวอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร หรือ 9 แก้ว/วัน
- หญิงตั้งครรภ์ ควรดื่มน้ำหรือของเหลวประมาณ 10 แก้ว/วัน
- หญิงให้นมบุตร ควรดื่มน้ำหรือของเหลว 12 แก้ว/วัน
- เด็กเล็ก ควรดื่มน้ำหรือของเหลวอย่างน้อยวันละ 6 แก้ว/วัน
- เด็กโตอายุ 14 ปี ขึ้นไป ควรดื่มน้ำหรือของเหลวอย่างน้อยวันละ 1.5 ลิตร หรือ 8-11 แก้ว/วัน
-
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
อาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารที่ดีต่อผิวดังต่อไปนี้ อาจช่วยทำให้ผิวแข็งแรงขึ้นได้
วิตามินเอ อาจช่วยปรับสภาพผิวและผลัดเซลล์ผิว ลดสิวและน้ำมันส่วนเกินบนใบหน้า วิตามินเอพบได้ใน น้ำมันปลา แซลมอน แครอท ผักโขม บรอกโคลี เป็นต้น
สังกะสี อาจช่วยรักษาสมดุลของระดับไขมันบนผิวหนัง สังกะสีพบได้ใน มันฝรั่ง อัลมอนด์ เนื้อไก่ เนื้อหมู คะน้า ธัญพืช เป็นต้น
วิตามินอีและซี มีสารต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด วิตามินซีพบได้ในส้ม มะนาว องุ่น สับปะรด มะเขือเทศ เป็นต้น ส่วนอาหารที่มีวิตามินอี เช่น น้ำมันมะกอก เมล็ดทานตะวัน ผักใบเขียว
กรดไขมันโอเมก้า 3 อาจช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิว เพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผิว กรดไขมันโอเมก้า 3 พบได้ในปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน หอยนางรม หอยแมลงภู่ เป็นต้น