Spread the love

Loading

วันนี้ (8 ส.ค.) เป็นวันครบรอบ 34 ปี การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชนเมียนมา เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2531 (ค.ศ. 1988) หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ 8-8-88 ซึ่งจบลงด้วยการที่ทหารใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก   

CR. SCIENCE PHOTO LIBRARY

การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของเมียนมานี้ มีจุดเริ่มต้นจากการที่นักศึกษา ประชาชน และพระสงฆ์นับล้านคน ออกมาชุมนุมอย่างสันติในนครย่างกุ้ง เพื่อเรียกร้องให้ยุติระบอบเผด็จการภายใต้การปกครองของนายพลเนวิน

ต่อมาการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยได้ลุกลามไปทั่วประเทศ และถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เมียนมาได้รับเอกราชเมื่อปี 1948

วันที่ 8 ส.ค. 1988 เป็นวันแรกที่นักศึกษาและประชาชนนัดหยุดงานเพื่อชุมนุมใหญ่ขับไล่เผด็จการทหารพม่า ซึ่งเกิดขึ้นหลายจุดทั่วประเทศ โดยมีจุดศูนย์กลางที่ย่างกุ้ง รัฐบาลพยายามสลายการชุมนุม แต่ประชาชนกลับออกมารวมตัวกันมากขึ้นและชุมนุมยืดเยื้อต่อเนื่อง วันต่อ ๆ มารัฐบาลเริ่มใช้อาวุธปราบปรามหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนนำมาสู่การปราบปรามครั้งใหญ่ในวันที่ 18 ก.ย. ผู้ชุมนุมอย่างน้อย 3,000 คนเสียชีวิต อีกหลายพันคนได้รับบาดเจ็บ และฝ่ายกองทัพเมียนมาสามารถกลับมายึดอำนาจไว้ได้สำเร็จ

การเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนั้น นำโดยนักศึกษาและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายคน รวมทั้งนางออง ซาน ซู จี ที่ก้าวขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงในครั้งนั้น

บุคคลเหล่านี้ ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า “คนรุ่น 88” มีบทบาททางการเมืองและในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ขณะที่กองทัพเมียนมาก็ยังคงเข้ามากุมอำนาจทางการเมือง รวมทั้งการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 และทำให้นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเมียนมาเหล่านี้ต้องถูกดำเนินคดี จับกุม คุมขังอีกครั้ง และบางคนถึงกับถูกประหารชีวิต

ในวาระครบรอบ 34 ปีเหตุการณ์ 8-8-88 บีบีซีไทยสำรวจชะตากรรมของ 4 ผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งนั้น

ออง ซาน ซู จี

หลังจากที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางออง ซาน ซู จี ชนะการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2558 รัฐบาลของพรรคเอ็นแอลดีก็ได้เข้ามาบริหารประเทศ โดยนางซู จี ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 พรรคเอ็นแอลดีก็ชนะอย่างถล่มทลาย ได้เข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่ออีกสมัย

แต่แล้วเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 กองทัพเมียนมาก็ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลของพรรคเอ็นแอลดี โดยอ้างเหตุทุจริตในการเลือกตั้ง นางซู จี ถูกจับกุมในวันเดียวกันและถูกควบคุมตัวในที่ไม่เปิดเผย ต่อมาเธอถูกตั้งข้อหาหลายข้อหา ตั้งแต่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 สร้างความวุ่นวายในที่สาธารณะ ทำลายเกียรติภูมิของกองทัพและอื่น ๆ ซึ่งมีโทษจำคุกรวมกันนับร้อยปี

Cr. REUTERS

ขณะนี้ นางซู จี วัย 77 ปี ถูกตัดสินจำคุกไปแล้ว 11 ปี และยังมีคดีอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอีกจำนวนมาก และเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีรายงานว่านางซู จี ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำแห่งหนึ่ง โดยรัฐบาลทหารระบุว่าการส่งเธอเข้าเรือนจำเป็นไปตามกฎหมายอาญา

ก่อ จิมมี

นายจ่อ มิน ยู ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า “ก่อ จิมมี” วัย 53 ปี เป็นนักต่อสู้ใน “กลุ่มนักศึกษารุ่น 88” (88 Generation Students Group) ซึ่งเป็นขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของเมียนมาซึ่งเป็นที่รู้จักจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารของประเทศในการชุมนุมต่อต้านของกลุ่มนักศึกษาในปี 1988

เขากับภรรยา นิลาร์ เต็ง นักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เคียงคู่กันมาโดยตลอดได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของเมียนมา

เมื่อพระสงฆ์นำการประท้วงต่อต้านระบอบการปกครองในปี 2007 ก่อ จิมมี่และภรรยาได้ระดมนักเคลื่อนไหวและผู้ประท้วงจากการประท้วงในปี 1988 มาเข้าร่วมประท้วงด้วย

เขาถูกคุมขังหลายครั้งในเรือนจำเนื่องจากการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวในปี 2012

ก่อ จิมมี่ ถูกประหารชีวิตเมื่อปลายเดือน ก.ค. 2565
Cr. ภาพจาก REUTERS

แต่แล้วเมื่อเดือน ต.ค. 2564 หรือราว 7 เดือนหลังรัฐประหาร 1 ก.พ. 2564 เขาก็ถูกจับกุมจากข้อกล่าวหาซุกซ่อนอาวุธและกระสุนปืนที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในย่างกุ้ง และเป็น “ที่ปรึกษา” ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และยังถูกดำเนินคดีให้ข้อหาเกี่ยวกับการก่อการร้าย

เดือน ม.ค. 2565 ก่อ จิมมี่ และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอีก 3 คน ถูกตัดสินประหารชีวิตภายหลังการพิจารณาคดีแบบปิด ทั้ง 4 คนถูกประหารชีวิตช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยทางการเมียนมาไม่เปิดเผยวันเวลาที่พวกเขาถูกประหาร

การประหารชีวิตทั้ง 4 คน ครั้งแรกของเมียนมาในรอบหลายทศวรรษ และทำให้รัฐบาลเมียนมาถูกวิจารณ์อย่างหนักจากนานาชาติ

มิน โก นาย

หลังเหตุการณ์ 8-8-88 มิน โก นาย ซึ่งมีชื่อจริงว่าพอ อู ตัน ถูกจำคุกยาวนานถึง 16 ปี หลังจากได้รับอิสรภาพเมื่อปี 2004 เขาก็กลับมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารอีก ทั้งด้วยวาจาและผ่านงานเขียนและบทกวี รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการประท้วงรัฐบาลที่นำโดยพระสงฆ์ในปี 2007 หรือรู้จักกันในนาม “การปฏิวัติชายจีวร” จนเป็นเหตุให้เขาถูกจับกุมอีกครั้งและเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี 2012

นิวยอร์กไทมส์ ยกย่องมิน โก นาย ว่าเป็นนักต่อสู้ทางการเมืองของเมียนมาที่ทรงอิทธิพลที่สุดเป็นอันดับสองรองจากนางซู จี สำหรับชาวเมียนมาผู้รักประชาธิปไตย มิน โก นาย เป็นแรงบันดาลใจ เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็งและความกล้าหาญ

หลังรัฐประหาร 1 ก.พ. มิน โก นาย ในวัยใกล้ 60 ปี ออกมาร่วมประท้วงขับไล่รัฐบาลทหาร และเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกทางการเมียนมาออกหมายจับในข้อหาปลุกระดมด้วยวาจาและข้อเขียนพื่อให้เกิดความปั่นป่วนในบ้านเมืองและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

ปัจจุบันเขายังไม่ถูกจับกุม และไม่ทราบแน่ชัดว่าเขาอยู่ที่ไหน แต่มิน โก นายยังเคลื่อนไหวทางเฟซบุ๊กอย่างต่อเนื่อง โดยเพจเฟซบุ๊กของเขามีผู้ติดตามมากกว่า 2.6 ล้านคน โพสต์ล่าสุดของเขาเมื่อวานนี้ (6 ส.ค.) เขาเรียกร้องให้ประชาคมโลกสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวเมียนมา สนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา และยุติการสนับสนุนรัฐบาลทหาร

FACEBOOK/MIN KO NAING

โก โก จี

เช่นเดียวกับผู้นำนักศึกษายุค 88 คนอื่น ๆ โก โก จี ถูกจำคุกหลายครั้งจากการมีบทบาทนำในการเรียกร้องประชาธิปไตย โดยรวม ๆ แล้วเขาใช้ชีวิตอยู่ในคุกทั้งสิ้นเกือบ 20 ปี หลังจากได้รับอิสรภาพเมื่อปี 2012 เขาก็เข้าสู่เส้นทางการเมือง เดิมทีพรรคเอ็นแอลดีจะส่งเขาลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 แต่ก็เปลี่ยนใจไม่ส่ง สร้างความแปลกใจให้นักสังเกตการณ์การเมืองอย่างมาก ปัจจุบัน โก โก จี วัย 60 ปี เป็นประธานบริหารพรรค People’s Party ซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้ง

ขอบคุณที่มา :: www.bbc.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *